สิทธิบัตรยา หาอย่างไร
Share
ข้อมูลสิทธิบัตรยา เป็นส่วนสำคัญทั้งสำหรับดูว่ายาต้นแบบสามารถผลิตได้เพียงบริษัทที่ครอบครองสิทธิบัตรได้ยาวนานเท่าใด ขณะเดียวกันบริษัทอื่นๆสามารถผลิตตามได้เมื่อใด
ปัญหาในการสืบค้น
แต่ข้อมูลสิทธิบัตรนั้นอาจไม่สามารถค้นหาได้ง่าย เนื่องจากการสืบค้นจาก
1. การสืบค้นต้องเป็นภาษาไทย – หากต้องการสืบค้นข้อมูลในกรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนใหญ่ต้องใช้ keyword หลักเป็นภาษาไทย
2. ชื่อโมเลกุลยา – ช่วงวันที่จดสิทธิบัตรยานั้น จะเป็นช่วงตั้งแต่ค้นพบโมเลกุลยา ซึ่งยังไม่ได้ตั้งชื่อยาตามที่ทราบ ณ ปัจจุบัน แต่จะเป็นชื่อทางเคมี
ตัวอย่างเมื่อเราเข้ามาในกรมทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับหาข้อมูลสิทธิบัตรยา >>> คลิกที่นี่เพื่อเข้าสู่การค้นหา
การค้นหาไม่สามารถค้นหาเป็นภาษาอังกฤษได้ ยกตัวอย่างเช่น edoxaban จะพบผลการค้นหาเป็น 0 เนื่องจากการจดทะเบียนจะจดในชื่อภาษาไทยเท่านั้น
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาวิธีที่สามารถสืบค้นเป็นภาษาอังกฤษและต้องหาโดยใช้ชื่อโมเลกุลยาได้
หลักการในการสืบค้น (อย่างง่าย) โดย MedsPaL
1. สืบค้นภาษาอังกฤษ ให้สืบค้นโดย MedsPaL ย่อมาจาก The Medicines Patents and License Database ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Medicines Patent Pool ***โดยฐานข้อมูลนี้ไม่ได้มีข้อมูลสิทธิบัตรยาทุกโมเลกุล*** โดยจะมีฐานข้อมูลยาสำหรับรักษา HIV, Hepatitis C, Tuberculosis ในครั้งเริ่มต้น และได้รวบรวมเพิ่มเติมเป็นยาที่อยู่ใน WHO – Essential Medicines List (EML) ดังนั้นจึงมียาบางส่วนเท่านั้นที่จะอยู่ในระบบนี้
2. ใส่ชื่อยาสามัญลงในช่องค้นหาตามตัวอย่างด้านล่าง
3. ผลลัพธ์ที่ออกมาจะแบ่งออกเป็นแต่ละประเทศ ซึ่งตามหลักการแล้วการคุ้มครองสิทธิบัตรนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ (ถ้าจะคุ้มครองในประเทศไทย จะต้องจดสิทธิบัตรในประเทศไทย) ดังนั้นจึงต้องเลื่อนค้นหาประเทศไทย
ดังนั้นตามตัวอย่างที่ค้นหายา edoxaban ในประเทศไทย จะเห็นว่าสิทธิบัตรคุ้มครองถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2565 และขึ้น Patent Status ว่า expired
4. อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบกลับมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญา ว่าข้อมูลถูกต้องตรงกันหรือไม่ โดยสามารถทำได้โดยใช้ Patent Application Number – TH0201002257 เป็นตัวค้นหา โดยไม่ต้องใส่ตัวอักษรชื่อย่อประเทศ และให้นำ 0201002257 กลับไปค้นหาในหน้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยหากให้ข้อมูลการค้นหาจำเพาะ ควรเปลี่ยน การค้นหา “ทั้งหมด” เป็น “สิทธิบัตรการประดิษฐ์” แทน ตามรูปด้านล่าง
5. ผลการค้นหาที่ขึ้นมาจะขึ้นตามเลขที่ได้ค้นหา (อาจมีเลขอื่นที่คล้ายกันปนมาได้) โดยตามตัวอย่างจะเห็นได้ว่ามีผลการค้นหาเพียง 1 รายการ ***โปรดสังเกต ชื่อสิ่งประดิษฐ์ “อนุพันธ์ไดเอมีน” ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไมถึงค้นหาด้วยชื่อภาษาอังกฤษไม่สามารถเจอสิทธิบัตรได้
6. เมื่อ click ไปที่เลขที่คำขอ แล้วจะขึ้นข้อมูลเพิ่มเติม โดยวิธีการนับสิทธิบัตร ตามที่ทราบคือ 20 ปี โดยนับจาก “วันที่ยืนคำขอ” ซึ่งหมายความว่าสิทธิบัตรจะคุ้มครองถึง 19 มิถุนายน 2565 (2545+20) ซึ่งตรงกับข้อมูลใน MedsPaL
โปรดติดตามตอนต่อไป สำหรับการค้นหาสิทธิบัตรยาที่ไม่ได้อยู่ในรายการของ WHO Essential List
สำหรับตอนต่อไปจะพาไปค้นโดยใช้ฐานข้อมูล WIPO และ Google Patents… ติดตามรับชมกันนะครับ